เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 5.มหายัญญวรรค 8.สังโยคสูตร
สมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ แต่เมื่อใดเราไม่เห็นเมถุนสังโยค 7 ประการนี้
อย่างใดอย่างหนึ่งในตนที่ยังละไม่ได้ เมื่อนั้นเราจึงยืนยันได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมา-
สัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ญาณทัสสนะเกิดขึ้นแก่เราว่า ‘วิมุตติ
ของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพใหม่ย่อมไม่มี’
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ชาณุสโสณิพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ฯลฯ ขอท่านพระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
เมถุนสูตรที่ 7 จบ

8. สังโยคสูตร
ว่าด้วยความเกี่ยวข้องและความไม่เกี่ยวข้อง
[51] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมบรรยาย1เรื่องความเกี่ยวข้องและ
ความไม่เกี่ยวข้องแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุ
เหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ธรรมบรรยายเรื่องความเกี่ยวข้องและความไม่เกี่ยวข้อง เป็นอย่างไร
คือ สตรีย่อมกำหนด
1. ความเป็นสตรีภายในตน 2. กิริยาของสตรี
3. ท่าทางของสตรี2 4. ความไว้ตัวของสตรี

เชิงอรรถ :
1 คำว่า บรรยาย ในคำว่า ธรรมบรรยาย นี้แปลจาก ปริยาย ศัพท์ ซึ่งมีความหมาย 3 นัย คือ (1) หมายถึง
เทศนา (ดู ม.มู. 12/205/175, องฺ.ฉกฺก. 22/63/390) (2) หมายถึงวาระ (ดู ม.อุ. 14/298/344)
(3) หมายถึงเหตุ (ดู วิ.มหา. 1/164/95) ในที่นี้หมายถึงเหตุ (วิ.อ. 1/3/126, องฺ.สตฺตก.อ. 3/51/185)
2 ท่าทางของสตรี หมายถึงมรรยาทต่าง ๆ เช่น การนุ่ง การห่ม เป็นต้น (องฺ.สตฺตก.อ. 3/51/185)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :85 }